วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ชนิดของช้าง

ช้างมี ๒ ชนิด คือ ช้างอเชีย และ ช้างแอฟริกา

ปัจจุบันนี้เราแบ่งช้างออก ๒ ชนิด คือ ช้างเอเชียชนิดหนึ่ง และช้างแอฟริกาชนิดหนึ่ง ช้างเอเชียเป็นช้างที่อยู่ในทวีปเอเชีย เช่น ในประเทศไทย พม่า อินเดีย ศรีลังกา เขมร ลาว ญวน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนช้างแอฟริกามีอยู่ในทวีปแอฟริกา แม้ว่าช้างสองชนิดนี้จะมีรูปร่างลักษณะภายนอกคล้าย ๆ กันก็ตาม แต่อยู่คนละสกุลกัน เช่นเดียวกับวัว ซึ่งอยู่คนละสกุลกับควาย ดังนั้น การที่เราจะเอาช้างเอเชียกับช้างแอฟริกามาผสมพันธุ์กันให้เกิดลูกหลานต่อไป จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก

ช้างเอเชีย

ช้างเอเชีย (Elephas maximus) ช้างเอเชียที่สมบูรณ์เต็มที่ จะมีความสูงเฉลี่ยวัดจากพื้นดินตรงขาหน้าถึงไหล่ประมาณ ๓ เมตร มีงาเฉพาะช้างตัวผู้หรือที่เรียกกันว่า ช้างพลาย ส่วนช้างตัวเมียหรือ ช้างพัง โดยปกติไม่มีงา บางครั้งอาจจะพบช้างพังมีงาสั้น ๆ บ้าง แต่งานั้นจะไม่สมบูรณ์และเรียกกันว่า "ขนาย" สำหรับช้างตัวผู้ที่ไม่มีงาก็มีบ้าง แต่เป็นจำนวนน้อย เราเรียกช้างพลายที่ไม่มีงาว่า "ช้างสีดอ" หัวของช้างเอเชียเป็นโหนก เมื่อมองดูข้างหน้าจะเห็นเป็น ๒ ลอน มีใบหูเป็นแผ่นกว้าง ขอบหูด้านบนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับศีรษะ ปลายงวงของช้างเอเชียมีจะงอยเพียงจะงอยเดียว เล็บเท้าหลังมีระหว่าง ๔-๕ เล็บ และช้างเอเชียมีหลังโค้งเหมือนหลังกุ้ง ช้างเอเชียเป็นสัตว์ที่ชอบอากาศชุ่มชื้นและร่มเย็น ไม่ชอบแสงแดดจัด และเป็นสัตว์ที่มีกะโหลกศีรษะใหญ่ มันสมองจึงใหญ่ตามขนาดกะโหลกศีรษะไปด้วย เนื่องจากช้างเอเชียมีมันสมองใหญ่ นี่เอง จึงทำให้ช้างเอเชียมีความเฉลียวฉลาด สามารถนำมาฝึกให้ใช้ทำงานป่าไม้ หรือใช้แสดงละครสัตว์ได้ ช้างของไทยก็อยู่ในจำพวกช้างเอเชียด้วย

ช้างแอฟริกา

ช้างแอฟริกา (Loxodonta africana) ช้างแอฟริกาที่สมบูรณ์เต็มที่ สูงกว่าช้างเอเชีย คือ สูงเฉลี่ยประมาณ ๓.๕ เมตร ช้างแอฟริกาไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียล้วนแต่มีงาทั้งสิ้น ฉะนั้น การสังเกตเพศของช้างแอฟริกาโดยการดูงาจึงทำไม่ได้ หัวของช้างแอฟริกามีส่วนที่เป็นหน้าผากแหลมแคบ และมีโหนกศีรษะเพียงลอนเดียว เมื่อเทียบเฉพาะส่วนหัวแล้ว ช้างแอฟริกามีหัวเล็กกว่าช้างเอเชีย แต่ช้างแอฟริกามีใบหูใหญ่กว่า และมีขอบหูด้านบนสูงกว่าระดับศีรษะ เวลามันโกรธ จะกางใบหูออกเต็มที่ ปลายงวงของช้างแอฟริกามี ๒ จะงอย เท้าหลังมีเล็บเพียง ๓ เล็บ ช้างแอฟริกามีสันหลังตรงหรือแอ่นลงเล็กน้อย ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ในป่าโปร่ง และไม่กลัวแสงแดด ดังนั้น มันจึงสามารถทนต่ออากาศร้อนของทวีปแอฟริกาได้ดี เนื่องจากช้างแอฟริกามีกะโหลกศีรษะเล็กกว่าช้างเอเชีย มันสมองของมันจึงเล็กตามไปด้วย ทำให้ช้างแอฟริกามีความเฉลียวฉลาดน้อยกว่าช้างเอเชีย และมีความดุร้ายมาก นำมาฝึกเพื่อใช้งานหรือให้ทำงานอื่นใดได้ยาก จึงไม่มีผู้ใดนำช้างแอฟริกามาฝึกใช้งานในป่าไม้หรือเล่นละครสัตว์เลย
นอกจากช้าง ๒ สกุล ดังกล่าวแล้ว ยังมีช้างแอฟริกาอีกจำพวกหนึ่งมีขนาดเล็กคือมีความสูงประมาณ ๒ เมตร เรียกว่า ช้างแคระ (pygmy elephant) อาศัยอยู่ตามแถบลุ่มแม่น้ำคองโก ปัจจุบันนี้มีเหลืออยู่น้อย เพราะชาวแอฟริกาชอบล่าช้างชนิดนี้เอาเนื้อไปใช้เป็นอาหารกันมาก ประเทศไทยเราก็เคยมีช้างขนาดเล็กที่เรียกกันว่า ช้างค่อม มีขนาดเท่าควาย อาศัยอยู่ตามป่าชายทะเลสาบสงขลา มีผู้เคยพบเห็นช้างนี้ในเมืองไทยครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ ๓๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันทราบว่าสูญพันธุ์ไปหมด เพราะมีคนนิยมล่าช้างชนิดนี้เอาเนื้อไปเป็นอาหาร จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยเราก็คงจะได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีสัตว์ประหลาดอีกชนิดหนึ่งเหลืออยู่ให้ชาวโลกได้เห็น และได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้กันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น